หออภิบาลผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
Neonatal Intensive Care Unit
 
 
 
     
  หัวหน้าหน่วยงาน นางสาวพีรญา กระต่ายทอง
  ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
  คุณวุฒิทางการศึกษา - พยาบาลศาสตรบัณฑิต (วิทยาลัยเกื้อการุณย์ ปี 2537)
  - ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปี 2543)
  - การพยาบาลเฉพาะทางอนุสาขา การพยาบาลทารกแรกเกิดระยะวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ปี 2546)
  - การบริหารทางการพยาบาล (ด้านการแพทย์) รุ่นที่ 15 (ปี 2563)
 
  เวลาทำการ เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง
  ที่ตั้งหน่วยงาน ชั้น 14 อาคาร 72 พรรษา มหาราชินี  
       
 
หน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน
 
 
     
                 หน้าที่และเป้าหมาย (Purpose) :  หออภิบาลผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤตตามมาตรฐานวิชาชีพให้ปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อน รวมถึงการส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูสุขภาพอย่างมีคุณภาพ และผู้ใช้บริการพึงพอใจ  
     
     
ขอบเขตการให้บริการของหน่วยงาน
 
 
     
                หออภิบาลผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด ให้การรักษาพยาบาลทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤตที่เกิดภายนโรงพยาบาลที่ต้องเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หรือต้องใช้อุปกรณ์ / เครื่องมือพิเศษทางการแพทย์ และให้คำแนะนำแก่บิดามารดาและญาติ ในการดูแลผู้ป่วยทารกแรกเกิด โดยกลุ่มโรคที่สำคัญคือ
     
                         1.  Premature baby  
                         2. Severe birth asphyxia  
                         3. Meconium Aspirate Syndrome ที่มีอาการหายใจลำบาก  
                         4. Shock จากสาเหตุต่างๆ  
                         5. Organ failure  
                         6. Persistent hypoglycemia  
                         7. Heart failure, Cyanotic heart disease  
                         8. น้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยกว่า 1,500 กรัม  
                         9. Congenital abnormally ซึ่งต้องรักษาทางศัลยกรรม  
                        10. ทารกหลังผ่าตัดที่ต้องดูแลใกล้ชิด  
                        11. Congenital pneumonia  
                        12. Clinical sepsis  
     
              ผู้ป่วยที่มาใช้บริการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตบางคอแหลม  ยานนาวา  และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งประชากรที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดแต่มาอาศัยในกรุงเทพมหานคร และเนื่องจากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิระดับต้น  จึงรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในเครือสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในระบบส่งต่อ และโรงพยาบาลเครือข่ายพันธมิตรระบบส่งต่อ  เช่น  ศิริราช  โรงพยาบาลรามาธิบดี  โดยมีจำนวนเตียง 10 เตียง  
 
     
ศักยภาพของหน่วยงาน
 
 
     
                ในปี 2564  หออภิบาลผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด มีบุคลากรประกอบด้วย  
 
แพทย์  จำนวน  19  คน แบ่งเป็นข้าราชการ 13 คน และแพทย์ห้วงเวลา 6 คน
ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ ได้แก่
แพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิด  2  คน
แพทย์โรคหัวใจ  1  คน
แพทย์โรคปอด  3  คน
แพทย์โรคภูมิแพ้  3  คน
แพทย์โรคทางเดินอาหาร  1  คน
แพทย์โรคไต  1  คน
แพทย์โรคทางระบบประสาทส่วนกลาง  1  คน
แพทย์โรคทางต่อมไร้ท่อ  1  คน
แพทย์เฉพาะทางระบบการติดเชื้อ  2  คน
แพทย์กระตุ้นพัฒนาการ  2  คน
แพทย์โรคระบบโลหิตวิทยา  1  คน
     
พยาบาลที่ปฏิบัติงานในปี 2564  จำนวน  17  คน พยาบาเวรผลัด ขึ้นเวรแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา
เวรเช้า   ปฏิบัติงานเวลา 08.00-16.00 น.
เวรบ่าย  ปฏิบัติงานเวลา 16.00-00.00 น.
เวรดึก   ปฏิบัติงานเวลา 00.01-08.00 น.
(อัตรากำลังพยาบาล เวรบ่าย - ดึก 1 คนต่อผู้ป่วย 2 คน) 
มีพยาบาลที่จบหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางทารกวิกฤต จำนวน 4 คน ปริญญาโทสาขาอื่น 2 คน
     
 
                บุคลากรทางการพยาบาลจำเป็นต้องมีทักษะความรู้ ความสามารถในการประเมินทารก  ความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านภาวะการเจ็บป่วย และการใช้เครื่องมือพิเศษต่างๆ รวมทั้งการทำหัตถการทางการพยาบาล ได้แก่ การเจาะเลือด  การทำแผล  และการช่วยแพทย์ทำหัตถการที่สำคัญ ได้แก่ การช่วยแพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ การช่วยแพทย์ใส่สายสวนทางสะดือ การใส่สาย PICC line การเจาะหลัง เป็นต้น  บุคลากรทางการพยาบาลทุกท่านได้ผ่านการฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  มีการส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมวิชาการเกี่ยวกับการพยาบาลทารกแรกเกิดและทารกวิกฤต ทั้งในและนอกโรงพยาบาล มีระบบพยาบาลพี่เลี้ยงที่เป็น ผู้ฝึกทักษะ ความรู้ และคำแนะนำให้กับพยาบาลใหม่ ในหออภิบาลผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด รับส่งต่อการรักษาในผู้ป่วยทารกแรกเกิดจากมารดา ที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลในเครือสังกัดโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลลาดกระบัง และโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยใกล้เคียง ได้แก่ ศิริราชพยาบาล และในกรณีเกินขีดความสามารถในการรักษา จะให้การรักษาเบื้องต้น และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า  
     
               เป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาแพทย์ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยได้แก่ ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลพระมงกุฎ รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในหน่วยงานมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียงพอ มีทะเบียนประวัติเครื่องมือในหน่วยงาน มีการตรวจสภาพการใช้งานเป็นระยะ มีหน่วยงานบำรุงรักษาเมื่อพบอุปกรณ์ชำรุดรวมทั้งจัดซื้อเพิ่มเติมเมื่อพบว่าอุปกรณ์เสียหายไม่สามารถจะแก้ไขได้  
     
     
ผู้รับบริการ
 
 
     
               1.  มีการดูแลแบบ Family care center ให้มารดาบิดาได้มีโอกาสได้เลี้ยงดูทารกในหน่วยงาน เพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก มีห้องให้มารดาสามารถนอนเฝ้าทารกที่หน่วยงานได้ เพื่อลดความวิตกกังวลในการเดินทางมาเยี่ยมบุตร สะดวกในการช่วยดูแล และส่งเสริมให้มารดาบีบน้ำนมอย่างต่อเนื่องสามารถนำมาให้ทารกกินได้ทันที  
   
               2.  ส่งเสริมพัฒนาการของทารกโดยจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ได้แก่ การมีชั่วโมงปิดไฟลดเสียง เพื่อให้ทารกได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ มีการทำ kangaroo ให้กับทารกในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูกและช่วยควบคุมอุณหภูมิ  
     
               3.  มีการให้วัคซีนแก่ทารกทุกรายก่อนกลับบ้าน  
   
               4.  ตรวจคัดกรองต่างๆ ที่สำคัญก่อนกลับบ้าน ได้แก่ thyroid screening ตรวจ ultrasound ตรวจหู ตรวจตา เป็นต้น เมื่อพบปัญหาให้รีบแก้ไขก่อนกลับบ้าน  
   
               5.  สอนสุขศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ร่วมกับการแจกแผ่นพับความรู้เกี่ยวกับโรค  
     
     
     
     
 
 
การดูแลทารกแรกเกิดใน NICU โดยยึดหลัก FAMILY CENTER
 
 
                การดูแลรักษาพยาบาลทารกในหออภิบาลผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด มีความเหมาะสมอย่างมากต่อการนำ “ ครอบครัวเป็นศูนย์กลางการดูแล ” มาเป็นแนวทางการปฏิบัติ เนื่องจาก ทารกเหล่านี้อยู่ในภาวะวิกฤต เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต แต่เมื่อรอดชีวิตสามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ทารกบางรายอาจมีผลตามมาจากการรักษา ต้องการการดูแลจากผู้ดูแล ย่อมหมายถึงครอบครัวที่มีศักยภาพเปรียบเสมือนเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เพื่อสามารถให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง ลดการเข้ารับการรักษาซ้ำ ลดค่าใช้จ่ายครอบครัว มีกำลังใจต่อการเลี้ยงดูบุตร มีความผาสุก สามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติ ประการสำคัญเพื่อลดคุณภาพชีวิตของทารกที่ต้องเจริญเติบโตเป็นบุคลากรที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตนเอง ไม่เป็นภาระต่อสังคมและประเทศชาติ  
 
             ดังนั้นบทบาทสำคัญของบุคลากรในหอผู้ป่วยนอกจากให้การรักษาทารกรอดชีวิตแล้ว ยังต้องให้การช่วยเหลือดูแลให้ครอบครัวสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤต ลดความวิตกกังวล เผชิญความเครียดได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวได้อย่างถูกต้อง ส่งเสริมสนับสนุนให้ครอบครัวมีความเชื่อมั่นไว้วางใจในการทำงาน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเกิดการเรียนรู้จึงจะเกิดศักยภาพ ซึ่งเป็นหัวใจของการดูแลทารก
 
     
     
   
     
           1. การให้ความคิดเชิงบวกกับพ่อแม่  
                ภายในห้องผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดประกอบด้วย สิ่งแวดล้อมที่ทำให้บิดามารดาเกิดความวิตกกังวล สาเหตุมาจากอุปกรณ์เครื่องมือมากมายที่อยู่รอบตัวทารกแทบมองไม่เห็นบุตร อาการที่ไม่แน่นอนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้บิดามารดามีความรู้สึกไม่แน่นอน การที่ไม่สามารถสัมผัสสื่อสารกับบุตรได้ จำนวนบุคลากรมากมายในหน่วยงาน เกิดความไม่คุ้นเคย ในช่วงเวลาที่บิดามารดาเกิดความเครียดนี้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้บิดามารดากลับบ้านด้วยความสบายใจ ไม่มีความทุกข์เพิ่มขึ้น การศึกษาพบว่า อาการเจ็บป่วยของบุตรเป็นสิ่งที่บิดามารดาปรารถนาจะทราบมากที่สุด ดังนั้นแม้ว่าทารกจะอยู่ในภาวะวิกฤต การให้ข้อมูลต้องมีเทคนิคพิจารณาเลือกบอกอาการเจ็บป่วยในด้านบวกเป็นอันดับแรก เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การสามารถลดเครื่องช่วยหายใจ การขับถ่ายปกติ พร้อมชื่นชมอาการที่ทารกสามารถแสดงออกได้แก่ การเคลื่อนไหว แขนขา สามารถลืมตามองสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น มีรอยยิ้มบนใบหน้า พักหลับได้ดี สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งส่งเสริมกำลังใจที่ดีกับบิดามารดา  
     
     
           2. สนับสนุนความเป็นลักษณะพิเศษของบิดามารดาที่มีต่อบุตร  
                 ชื่นชมและให้กำลังใจบิดามารดา ส่งเสริมการสัมผัสบุตรเพื่อสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมกำลังใจจากแม่สู่ลูกเนื่องจากการสัมผัสจากแม่สู่ลูกนั้นมีแต่ความรัก ความอ่อนโยนและความปรารถนาดีเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดสามารถทำได้เหมือนพ่อ แม่ แม้ว่าพยาบาลจะสัมผัสจับต้องทารกทุกวัน นอกจากนี้ นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด เพราะย่อยและดูดซิมง่าย ตลอดจนมีภูมิต้านทาน ซึ่งไม่มีนมผสมใดในโลกที่ทำเลียนแบบได้
 
     
 
 
     
           3. สื่อสารให้บิดามารดาให้ทราบว่าทารกสามารถรับรู้และเรียนรู้ จากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวได้  
                 ดังนั้นไม่ว่า บิดามารดากระทำการใดๆต่อบุตรย่อมไม่มีถูกหรือผิด เพียงแต่ควรสังเกตพฤติกรรมอาการแสดงตอบสนองของบุตรเมื่อสัมผัส เนื่องจากทารกมีประสาทรับรู้ถึงการกระทำต่างๆ ที่ได้รับ แม้ว่าจะอยู่ในภาวะวิกฤต หรือคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมารดาจะรับรู้ได้ เนื่องจากเป็นผู้คุ้นเคยกับบุตรมากที่สุดตั้งแต่อยู่ในครรภ์  
     
 
 
     
     
           4. ชี้แจงถึงพฤติกรรมของทารกและขั้นตอนของพัฒนาการ  
                 ทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีพฤติกรรมแสดงตอบต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าแตกต่างจากทารกครบกำหนด ดังนั้นบิดามารดาต้องเรียนรู้พฤติกรรมเหล่านี้ เช่น ทารกยกมือขึ้นและกางนิ้วทั้ง 5หรือเรียกว่า “stop sign” ซึ่ง แสดงว่า ทารกไม่พึงพอใจต่อสิ่งที่ได้รับการกระตุ้นจากผู้ดูแล ต้องการหยุดหรือหลีกเลี่ยงจากเหตุการณ์เหล่านั้น บ่งบอกว่า ทารกได้รับการกระตุ้นที่รุนแรงหรือทารกได้รับการรบกวนผู้ดูแลหรือบิดามารดา ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่างและปลอบโยนทารกเพื่อให้ทารกสู่สภาพสงบโดยเร็ว ก่อนที่ทารกจะมีความเครียดซึ่งจะมีผลต่อการเรียนรู้ของทารก ทำให้ทารกปรับตัวได้ยาก  
     
     
           5. สร้างความรู้สึกเชิงบวกกับบิดามารดา โดยการชื่นชมเมื่อทำสำเร็จ  
                 เมื่อทารกมีอาการดีขึ้นเช่น ถอดเครื่องช่วยหายใจได้ สามารถหายใจเองได้ หรือเมื่อทารกสามารถดูดนมได้ดี ตลอดจนการที่ มารดาสามารถอุ้มบุตรได้อย่างถูกต้อง ควรกล่าวชื่นชม นอกจากจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ สร้างกำลังใจต่อบิดามารดาพร้อมที่จะต่อสู้และแก้ไขปัญหาอื่นๆต่อไป  
     
 
 
     
     
     
 
กิจกรรมเสริมในห้องผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดเพื่อช่วยลดความเครียดของพ่อแม่
 
 
 
     
     
ความพึงพอใจของผู้รับบริการ
 
     
 
เก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถามความพึงพอใจประจำหน่วยงาน แล้วนำมาประเมินผลทุก 3 เดือน อัตราความพึงพอใจของหน่วยงานห้องผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดแบ่งตามไตรมาส
 
     
 
 
     
     
     
ระเบียบของหน่วยงาน
 
 
     
 
1.
การเข้าเยี่ยมทารกในหน่วยงานผู้เข้าเยี่ยมทารกต้องเป็นมารดาและบิดาของทารกเท่านั้น กรณีเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว/ คุณแม่อายุน้อยยังไม่บรรลุนิติภาวะ อนุญาตให้ญาติสายตรง เช่น ตา ยาย หรือผู้ปกดครองที่จะดูแลทารกเข้าเยี่ยมได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตเป็นราย ๆ ไป
2.
มารดาที่เข้าพักในห้องพักมารดาระหว่างรอบุตรรักษาตัว ก่อนจะออกไปทำธุระนอกหน่วยงาน ต้องทำหนังสือฝากบุตรไว้ในโรงพยาบาลก่อน รวมทั้งให้แจ้งพยาบาลในหน่วยงานทราบทุกครั้งก่อนจะออกไปนอกหน่วยงาน และห้ามบิดาหรือญาติคนอื่น ๆ เข้าห้องพักมารดา
3.


รับประทานอาหารในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น

4.
ในกรณีอยู่ในช่วงสถานการณ์การควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง เช่น สถานการณ์ covid – 19 มารดาที่ไม่ได้อยู่นอนเฝ้าบุตร และต้องการนอนเฝ้าบุตรต้อง swab หาเชื้อ covid – 19 ก่อนทุกราย ในกรณีที่ไม่ได้นอนเฝ้าบุตรแต่ต้องการเยี่ยมบุตรให้เยี่ยมได้ครั้งละไม่เกิน 5 นาทีและ
ไม่อนุญาตให้มารดา/บิดาที่มี อาการไข้ ไอ น้ำมูก เข้าเยี่ยมบุตร ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยในการเข้าเยี่ยมบุตรตลอดเวลา การเข้าเยี่ยมจะพิจารณาเป็นรายๆไป หรือสามารถเยี่ยมได้ทางวิดีโอคอล จากการ add line ในมือถือของหน่วยงาน
 
     
 
 
 
 
     
     
     
  หออภิบาลผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
  ชั้น 14  อาคาร 72 พรรษา มหาราชินี
 
  02-289-7140 , 02-289-7141    หมายเลขภายใน 7140 , 7141
 
  โทรศัพท์มือถือ 098-2192533