วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการนิเทศทางคลินิก สำหรับผู้บริหารการพยาบาลระดับต้น
วิธีดำเนินการวิจัย: เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารการพยาบาลระดับต้น จำนวน 28 คน เลือกแบบเจาะจง และพยาบาลวิชาชีพผู้รับการนิเทศ จำนวน 206 คน สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมการนิเทศทางคลินิกตามแนวคิดของพรอคเตอร์และโมเดลโกลว์ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการนิเทศทางคลินิก ทักษะการนิเทศทางคลินิก เจตคติต่อการนิเทศทางคลินิกของผู้บริหารการพยาบาลระดับต้น และแบบสอบถามความคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพต่อการนิเทศทางคลินิก ซึ่งแบบสอบถามได้ผ่านการตรวจความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงเท่ากับ 0.81, 0.93, 0.86 และ 0.87 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที (paired t-test)
ผลการวิจัย: พบว่า ความรู้เกี่ยวกับการนิเทศทางคลินิกของผู้บริหารการพยาบาลระดับต้นหลังเข้าร่วมโปรแกรมการนิเทศทางคลินิกสูงกว่าความรู้ก่อนเข้าร่วมโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ทักษะการนิเทศทางคลินิกและเจตคติต่อการนิเทศทางคลินิกของผู้บริหารการพยาบาลระดับต้นก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการนิเทศทางคลินิกกับหลังเข้าร่วมโปรแกรมไม่แตกต่างกัน ความคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพต่อการนิเทศทางคลินิกอยู่ในระดับมาก (= 3.83, S.D. = 0.42)
สรุปผลการวิจัย: โปรแกรมการนิเทศทางคลินิกมีผลทำให้ความรู้เกี่ยวกับการนิเทศทางคลินิกของผู้บริหารการพยาบาลระดับต้นสูงขึ้น ผู้บริหารการพยาบาลระดับสูงควรสนับสนุนให้นำโปรแกรมการนิเทศทางคลินิกไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพด้านการนิเทศทางคลินิกแก่ผู้บริหารการพยาบาลระดับต้น
คำสำคัญ: โปรแกรมการนิเทศทางคลินิก ผู้บริหารการพยาบาลระดับต้น